พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร)
(๒๔๖๐ – ปัจจุบัน)
วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
     
 
นามเดิม
 
ศรี ปักกะสีนัง
 
เกิด
 
วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ตรงกับวันศุกร์ เดือนหก ปีมะเมีย
 
 
บ้านเกิด
 
บ้านขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
 
 
บิดามารดา
 
นายอ่อนสี และนางทุม ปักกะสี
 
อุปสมบท
 
พ.ศ.2488 ณ พัทธสีมาวัดราษฎร์รังสรรค์ บ้านป่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระโพธิญาณมุนี (
 
 
ดำ โพธิญาโณ) เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) เป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "มหาวีโร"
 
เรื่องราวในชีวิต
 
สมัยเป็นหนุ่มท่านดำเนินชีวิตประกอบกิจการงานเป็นครูโรงเรียนหนึ่ง ในจังหวัดมหาสารคามต่อมาท่านได้แต่งงานมีบุตร ๔ คน
 
 
ในชีวิตข้าราชการครู น้อยนักที่จะหาเวลาหรือโอกาสอุปสมบทได้ ดังนั้นท่านจึงได้ปรารภกับภรรยาขอบวชเพื่อนมัสการคุณพระพุทธเจ้าสักครั้ง ก็เป็นที่น่ายินดีที่ภรรยาท่านอนุญาตให้บวชเพียง ๗ วันเท่านั้น!…เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็ได้เดินทางมาอุปสมบท หลังจากบวชแล้วประกอบกับทุนเดิมในการประพฤติปฏิบัติสมัยเป็นฆราวาส ท่านก็เร่งทำความเพียรตลอดวันธรรมปีติที่เกิดขึ้นภายในจิตใจไม่หยุดหย่อน ท่านพยายามตักตวงบุญกุศลและการภาวนาในช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วันนี้เหมือนบุญบารมีหนุนจิตใจให้ท่านต้องครองเพศสมณะอันบริสุทธิ์ต่อไป เกิดได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และศิษย์เอก คือท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เข้าในช่วงนั้นข่าวที่เชื่อถือได้นี้บอกว่า “ท่านทั้งสององค์เป็นพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติแตกฉานในวิปัสสนากรรมฐาน อีกทั้งยังมีปฏิปทาจริยาวัตรอันงดงาม น่าเคารพเลื่อมใสยิ่ง”
ท่านสมัยเป็นพระหนุ่ม ก็ยิ่งทำให้กระวนกระวายใจยิ่งนัก คอยฟังข่าวว่าท่านอยู่ที่ไหน เมื่อได้ทราบข่าวแน่นอนว่าท่านพระอาจารย์สิงห์อยู่ จ.อุบลราชธานี ก็ไม่รอช้ากัน รีบเดินทางไปทันที เวลาสึกตามสัญญาก็เหลืออีกไม่กี่วันด้วย ในที่สุดก็ได้พบท่านพระอาจารย์สิงห์พร้อมกับสดับตรับฟังธรรมะ เป็นที่ถูกอกถูกใจเป็นอันมาก ธรรมที่ฝังลึกลงก้นบึ้งแห่งจิตนี้ ทำให้สัญญา ๗ วันเป็น ๑๕ วัน ถึง ๑ เดือน และ ๑ ปี ในขั้นสุดท้ายก็ขาดสะบั้นลง ปิดทางโลกจนหมดสิ้น ไม่ยินดีที่จะใช้ชีวิตทางโลกอีกต่อไป เพราะบัดนี้ท่านได้พบกับพระผู้มีคุณธรรมวิเศษเข้าแล้ว คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้ปฏิบัติภาวนามาตั้งแต่ต้นมาจนปัจจุบัน ท่านกล่าวสั้นๆ ให้ ได้ยินว่า “เอาชีวิตนี่แหละเป็นเดิมพัน เพื่อแลกกับความดี”
การเดินธุดงค์ไปตามป่าดงหรือปักกลดบำเพ็ญสมาธิภาวนาท่านมีแต่ความอิ่มเอิบอาจหาญ ผลทางใจที่เคยได้รับสมัยแรกเป็นแรงหนุนความเด็ดเดี่ยว สติมั่นคง ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ นานาประการ
ท่านได้พระคณาจารย์ที่เป็นพระสหธรรมที่ถูกอัธยาศัยหลายองค์เช่น ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พระมหามี หลวงปู่บัว สิริปุณโณ ท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโท ซึ่งพระคณาจารย์ฝ่ายอาวุโสเหล่านี้ ท่านเคยได้ออกเดินธุดงค์บำเพ็ญสมณธรรมด้วยกัน ทั้งสิ้น
ทางด้านอภิญญาญาณ ท่านมีความแจ่มใสในเรื่อง อภิญญาญาณ มาก เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะศรัทธาญาติโยมในจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ท่านเป็นร่มโพธิ์ทองสำหรับเราชาวไทยทุกคน ท่านมีเมตตาธรรมเสมอภาค ไม่เคยแบ่งชั้นแก่ผู้ใด แม้ท่านที่เดินทางไปวัดประชาคมวนาราม จ.ร้อยเอ็ด ก็จะได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีของคณะกรรมการวัด และญาติโยม ปัจจุบันนี้ แม้ท่านจะมีภารกิจต่างๆ มากมาย และเป็นองค์ประธานในการสร้างวัดไทยในต่างแดนอีกวัดหนึ่ง แต่ท่านก็โปรดเราด้วยธรรมเสมอ ท่านแสดงธรรมไว้เป็นบทปฏิบัติว่า “ถ้าสติไปถึงจิตเมื่อไรเมื่อนั้นพวกกิเลสหรือนิวรณ์ ทั้งหลายนี่ มันจะถอยหนีไปหมดเลย”ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ได้ชื่อว่า…ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีศีลจริยาวัตรงดงาม ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังเลื่องลือทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศมานานแล้ว อีกทั้งอำนาจวาสนาแก่กล้าเป็นที่น่าอัศจรรย์ ปฏิปทาในการประพฤติปฏิบัติของท่านนั้น ได้เจริญรอยตามพระบุพพาจารย์ฝ่ายสมถะและวิปัสสนากรรมฐานในยุค คือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นศิษย์องค์หนึ่งในจำนวนศิษย์ ทั้งหลาย ทีมีเจตนาอันเดียวกันคือ รักษาบทบัญญัติพระธรรมวินัย พร้อมกับสร้างสรรค์ความสมบูรณ์พูลสุขในสังคมมนุษย์ชาติจนได้รับความศรัทธา เชื่อมั่นจากประชาชนคนไทยและต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง
 
ข้อมูลพิเศษ
 
* ท่านเป็นผู้นำ เป็นธุระในกิจการงาน พระศาสนา อย่างจริงจังและ มั่นคง สร้างคุณูปการและสาธารณประโยชน์ เป็นจำนวนมาก
 
 
* ท่านเป็นผู้อำนาจวาสนาบารมีมาก ซึ่งดูจากผลงานอันยิ่งใหญ่อลังการคือการก่อสร้าง "พระมหาเจดีย์ชัยมงคล" ณ วัดผาน้ำทิพย์ อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด
   
 

ธรรมโอวาท :

“…การนั่งสมาธิภาวนาอย่างขั้นอุกฤษฎ์ คือ… นั่งภาวนา ๒๔ ชั่วโมง จะเปลี่ยนอิริยาบถเพียง ๒ ครั้งเท่านั้น เพื่อดูทุกขเวทนาในตนเอง จนปรากฏทุกขเวทนาอย่างเด่นชัด และรู้เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสมาร ที่มารบเร้าจิตใจขจนหมดสิ้น การนั่งสมาธิในคราวนั้นโดยไม่ยอมเปลี่ยนอิริยาบถได้เป็นเหตุให้เกิดพุพองเป็นตุ่มขึ้นมา ทำให้ปวดแสบปวดร้อนมาก … โอ…นรก ๘ ขุม มันเกิดยกมากันที่นี่ทั้งหมด เออ…มันยกทัพกันมา ดังสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งร่างกาย เรานี่แหละสู้กับมัน ขอให้มีสติดีเสียอย่างเดียวมันจบได้ คือ ความเจ็บปวดทั้งหลายนั้น มันจะไม่เกิดอีกเลย นี่นักปฏิบัติต้องเอาชนะให้ได้ ถ้าไม่ได้ แพ้มันเด็ดขาด...”


“...นักปฏิบัติธรรมต้องมีสติพร้อมเสมอ ถ้าสติอ่อน มันจะติดสัญญาภาพเก่าๆ ที่เราได้ จดจำมาแล้วทั้งสิ้น แล้วธรรมที่เกิดนั้นมันก็ยังเป็นของคนอื่น ยังมิใช่ของเราแท้นะ ระวังกิเลสมันจะหลอกล่อจิตใจเราให้ลุ่มหลง เพ้อพกไปได้แม้อาตมาเอง มันยังหลอกให้หลงอยู่กับนิมิตเกือบ ๖ ปี เพราะนิมิตตัวเดียวแท้ๆ...”

     
     
   
   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป   
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐